เคสรีวิว : ภาวะสายตาสั้นตอนกลางคืน (Night myopia)

เคยมีอาการเเบบนี้ไหม มองเห็นอะไรไม่ค่อยชัดในตอนกลางคืน หรือช่วงที่มีเเสงน้อยๆ เช่นขณะขับรถในตอนกลางคืน ทั้งๆที่ตอนกลางวันก็มองเห็นปกติดี หากท่านมีปัญหาดังกล่าวลองอ่านได้จากเคสนี้เลยค่ะ

ปุณพณุฏณ์ เลิศธีรจรัส
นักทัศนมาตร (O.D.)

ลูกค้าเพศชายอายุ 40 ปีมาตรวจวัดสายตาที่ร้าน เนื่องจากมีอาการมองระยะไกลไม่ชัดเมื่อขับรถในตอนกลางคืน ในตอนกลางวันมองเห็นชัดเจนปกติดี
แว่นเดิม : ตาขวา -3.25 -1.00 x 167 VA 20/20
ตาซ้าย -3.25 -0.50 x 152 VA 20/20
มองกลางวันชัดเจนไม่มีปัญหา แต่พอขับรถตอนกลางคืนมองเห็นป้ายบอกทางไม่ค่อยชัด

การตรวจประเมินสายตาและสุขภาพตาเบื้องต้น

ทางร้านใช้เครื่อง Visionix Diagnostic ประเมินสุขภาพดวงตาได้ ดังนี้
1.ประเมินค่าสายตา และรูม่านตา
ตาขวา : -3.75 -0.75 x 160
ตาซ้าย : -3.75 -0.25 x 139

รูม่านตาตอบสนองต่อแสงได้ปกติ ในส่วนของขนาดรูม่านตาตอนกลางคืนหรือที่แสงสลัวรูม่านตาจะมีขนาดใหญ่กว่าตอนกลางวันเป็นเรื่องปกติ

2.ประเมินมุมตา
มุมตามีขนาดแคบกว่าปกตินิดหน่อยในตาขวาแนะนำให้ตรวจสุขภาพตากับจักษุทุกปี
3.ประเมินความขุ่นของเลนส์ตา
เลนส์ตาใสปกติดี
4.ประเมินความโค้งกระจกตา
กระจกตาปกติดี

ตรวจวัดสายตาโดยละเอียด

เมื่อวัดค่าสายตาโดยละเอียดด้วยเครื่อง (phoropter)
ตาขวา : -3.25 -0.75 x 167, มีระดับการมองเห็น VA 20/20
ตาซ้าย : -3.25 -0.25 x 5, มีระดับการมองเห็น VA 20/20
เมื่อทำการตรวจการทำงานร่วมกันของสองตา ( Binocular vision ) พบว่า ปกติดี

แนวทางการแก้ไขปัญหาและการจ่ายแว่นสายตา

จากกรณีดังกล่าวจะเห็นว่า ลูกค้าท่านนี้มีอาการของสายตาสั้นกลางคืน เนื่องจากในสภาวะแสงน้อยรูม่านตาของมนุษย์จะเกิดการขยายตัวทำให้จึงส่งผลต่อการ focus ภาพทำให้การมองเห็นในตอนกลางคืนไม่คมชัด

ทางร้านจึงทำการจ่ายค่าสายตาเพื่อแก้ปัญหาการ focus ในขณะที่มีแสงน้อย และใช้เลนส์มัลติโค้ดหรือเลนส์ที่ออกแบบมาเพื่อขับรถกลางคืนซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดแสงสะท้อนบนผิวเลนส์ ทำให้การมองเห็นคมชัดมากขึ้น
ตาขวา : -3.75 -1.00 x 167
ตาซ้าย : -3.75 -0.50 x 5

ภาวะสายตาสั้นกลางคืน

โดยแว่นตัวนี้จะใช้แค่ในช่วงกลางคืนหรือที่แสงน้อย ไม่แนะนำให้ใส่ในตอนกลางวันเนื่องจากค่าสายตาค่อนข้างเยอะ หากใช้ในตอนกลางวันจะกลายเป็นแว่นที่มีกำลังค่าสายตาที่เข้มเกินไป อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดตา ไม่สบายตาได้

ในส่วนของสายตาสั้นตอนกลางคืนที่มีสาเหตุมาจากการหักเหของแสงจะเกิดจากขนาดรูม่านตาที่ขยายกว้างในช่วงกลางคืน

จากภาพ แสดงการรับภาพของดวงตาในภาวะแสงสว่างเพียงพอ สังเกตุว่าภาพจะรวมเป็นจุดเดียวบนจอรับภาพ ไม่มีการฟุ้งกระจายของแสง ทำให้มองเห็นภาพคมชัด แต่ในภาวะแสงน้อย รูม่ายตาขยาย จะทำให้แสงหักเหบนเลนส์ตาได้หลายตำแหน่ง แสงที่ผ่านบริเวณขอบเลนส์ จะหักเหมากกว่าบริเวณกลางเลนส์ ทำให้ภาพตกก่อนจอประสาทตา ส่งผลให้ภาพไม่คมชัด แสงฟุ้งกระจาย ภาพมัว เกิดเป็นสายตาสั้นที่เพิ่มขึ้นกว่าเดิม จึงเป็นสาเหตุให้การมองเห็นช่วงกลางคืนไม่คมชัดค่ะ

ปุณพณุฏณ์ เลิศธีรจรัส
นักทัศนมาตร (O.D.)